วันเสาร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ตำรับยารักษาโรคหอบหืด

ตำรับยารักษาโรคหอบหืด
ยาฝนแก้อาการ ไอ หืด เสลดติดคอ (หมอประภาส มาศขาว อ.กุดชุม จ.ยโสธร)
๑. รากพริกป่า (ครุฑน้อย , พุดน้อย , พุดป่า, เขาควาย, พริกผี ) ๑ คืบ
๒. น้ำมะนาว เป็นน้ำกระสายยา
วิธีใช้ ใช้รากพริกป่า ฝนกับหินให้เห็นเป็นสียาผสมกับน้ำมะนาว จิบบ่อยๆขณะมีอาการ ข้อมูลจาก หลวงพ่อเมียก วัดโคกกะเพอ จ. สุรินทร์
เหง้า ของต้น เอื้องหมายนา แช่ในน้ำตาลโตนด ๗ วัน กินวันละครึ่งแก้ว ก่อนนอน
ตำรับกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์
ขนานที่ ๑
เอาผมคน จำนวนมากพอสมควร นำมาล้างให้สะอาด ตากแดดให้แห้ง บดเป็นผงผสมสุราพอประมาณ ดื่มครั้งละ ๑ ถ้วยชาจีน วันละครั้ง ( ไม่ควรกินขณะโรคหืดกำเริบ) ประมาณ ๗ วัน ( ใช้ได้ผลดีในกรณีที่เป็นไม่เกิน ๕ ปี)
ขนานที่ ๒
ใช้แก่นลั่นทมจำนวนมากพอสมควร สับให้ละเอียดนำมาต้มใส่น้ำพอสมควร กรองเอาน้ำออกแล้วเคี่ยวให้เป็นยางเหนียว (พอปั้นเป็นลูกกลอนได้) ผสมกับสุรา ปั้นเป็นลูกกลอนขนาดเท่าเมล็ดพุดซา
ขนานที่ ๓
แมงป่องช้าง ๘ ตัว นำมาคั่วไฟให้กรอบ บดให้ละเอียด ผสมกับสุรา ดื่มครั้งละ ๑ ถ้วยชาจีน วันละ ๒-๓ ครั้ง
ขนานที่ ๔
นำเนื้อหมู ๓ ชั้น ใส่ไว้ในรังมดแดง ๒๐ ชั่วโมง นำเอาเนื้อหมูมาสับให้ละเอียดแกงกับยอดตำลึง กินทั้งเนื้อและน้ำยา ๒-๓ ครั้ง
ขนานที่ ๕
๑. ใบหนาด ๔ ใบ
๒. รากมะดัน หนัก ๑๐ บาท
๓. สารส้ม หนัก ๑ บาท
นำมาตำให้เป็นผง ชงน้ำร้อนดื่มต่างน้ำชา
ขนานที่ ๖
ใช้ต้นตำแย ทั้ง ๕ จำนวนมากพอสมควร ล้างให้สะอาด ตำให้ละเอียด คั้นเอาน้ำ นำมาผสมกับน้ำผึ้ง อย่างละเท่ากัน ดื่มครั้งละ ๑ แก้ว
ขนานที่ ๗
ใช้ลูกใต้ใบ ทั้ง ๕ จำนวนมากพอสมควร ตำให้ละเอียด ผสมน้ำต้มสุก คั้นเอาน้ำ ดื่มครั้งละ ๑ ถ้วยชาจีน วันละ ๑ ครั้ง เป็น เวลา ๓ วัน
ขนานที่ ๘
๑. ข้าวหมาก ๑ ถ้วยชาจีน
๒. หนังปลากระเบน ( เผาจนกรอบแล้วนำมาบดละเอียด) หนัก ๑ บาท
นำมาผสมกัน ใช้กินให้หมดทั้งถ้วยเพียงครั้งเดียว
ขนานที่ ๙
เนื้อจระเข้สด จำนวนมากพอสมควร นำมาผัดกับพริกเครื่องแกง ผสมกับสุราพอสมควร กินพร้อมกับข้าวสุก เพียง ๓-๔ ครั้ง
ขนานที่ ๑๐
เมล็ดบวบที่ตากแดดให้แห้ง แกะเอาเฉพาะเนื้อข้างใน ตำให้ละเอียดผสมกับสุรา ใช้ดื่ม ๓ ครั้ง
- ครั้งที่๑ เนื้อในเมล็ดบวบ หนัก ๑ สลึง ผสมกับสุรา ๑ ก๊ง ดื่มให้หมด
- ครั้งที่ ๒ เอาเนื้อในเมล็ดบวบ หนัก ๒ สลึง ผสมกับสุรา ๑ ก๊ง ดื่มให้หมด ห่างจากครั้งแรก เว้น ๑ วัน
- ครั้งที่ ๓ เนื้อในเมล็ดบวบ หนัก ๓ สลึง ผสมกับสุรา ๑ ก๊ง ดื่มให้หมด ห่างจากครั้งที่ ๒ เว้น ๑ วัน
หมายเหตุ กินยาขนานนี้แล้วจะทำให้เกิดการอาเจียน จนรังหืดออกมา
ขนานที่ ๑๑
ยาสูบ และ ปูนขาว อย่างละเท่ากัน ไข่ไก่ ๒-๓ ฟอง ( ใช้เฉพาะไข่ขาว) นำมาคลุกเคล้ากันให้ดี พอกกลางหลังบริเวณ กระเบนเหน็บ หลังพอกยา จะเกิดอาการอาเจียนออกมาเป็นสีขาว เหลือง และเขียวอ่อน รังหืดจะออกมาพร้อมกับอาเจียนสีเขียวอ่อน เมื่อรังหืดออกมาแล้วให้แกะยาที่พอกออกทันที
หมายเหตุ ในระหว่างอาเจียนให้ดื่มน้ำมะพร้าวอ่อน
ขนานที่ ๑๒
ไข่ไก่สด (ชนิดที่มีเชื้อตัวผู้ ฟักเป็นตัวได้) ๑ ฟอง ผสมน้ำส้มสายชู ๒ ช้อนโต๊ะ กวนให้เข้ากัน กินก่อนอาหารเช้าทุกวัน เป็นเวลา ๑๕ วัน (ถ้าเป็นมากให้กิน เช้า เย็น)อาการจะดีขึ้น และให้กินต่อขนครบ ๙๐ วัน
ขนานที่ ๑๓
๑. เถาวัลย์เปรียง ๒ สลึง ( ๑ บาท ๑ สลึง)
๒. ใบมะคำไก่ ๒ สลึง ( ๒ บาท ๒ สลึง)
๓. ฝาง ๒ สลึง ( ๒ บาท ๒ สลึง)
๔. หัวแห้วหมู ๒ สลึง ( ๒ บาท ๒ สลึง)
๕. แก่นแสมสาร ๖ สลึง ( ๖ บาท ๒ สลึง)
นำมาต้ม ดื่มครั้งละ ๑ ถ้วยชาจีน ประมาณ ๔-๕ ครั้ง
ขนานที่ ๑๔
๑. ขมิ้นอ้อย
๒. ยาสูบ
๓. ปูนขาว
นำมาอย่างละหนัก ๘ บาท ตำให้ละเอียด พอกที่หน้าแข้ง ประมาณ ๓๐ นาที จะทำให้อาเจียนเอาเชื้อหืดออกหมด
ขนานที่ ๑๕
ใบต้นตองแตก ๕ ใบ ลงอักขระพระเจ้า ๕พระองค์ ( นะ โม พุท ธา ยะ ) ทุกใบ ตำให้ละเอียด คั้นเอาน้ำยามาผสมกับน้ำปูนขาว ปั้นเป็นเม็ดขนาดเท่าไข่จิ้งจก กินกับน้ำผึ้งวันละครั้งเพียง ๓ วัน
ขนานที่ ๑๖
๑. หัวกระชาย
๒. ผิวมะกรูด
๓. ต้นการบูร ทั้ง๕
๔. กระเพราแดง
๕. ขิง
นำมาอย่างละเท่ากัน ตากแดดให้แห้ง บดให้เป็นผง ผสมกับน้ำผึ้ง และปั้นเป็นลูกกลอน ขนาดเท่าเม็ดพุดซา กินครั้งละ ๒ เม็ด ก่อนอาหาร เช้า เย็น
ขนานที่ ๑๗
ปูแสมดองเค็ม ๕ ตัวนำมาคั่วให้เกรียม บดให้ละเอียดผสมน้ำข้าวต้ม ๓ ช้อนโต๊ะ กินวันละ ๓ เวลา
ขนานที่ ๑๘
๑. เถาวัลย์เปรียง หนัก ๓ บาท
๒. ผักเป็ดแดง หนัก ๓ บาท
๓. ต้นสำมะงา หนัก ๓ บาท
๔. การบูร หนัก ๑ บาท
นำมาต้มใส่น้ำ ๑ส่วน สุรา ๑ ส่วน ดื่มก่อนอาหาร เช้า-เย็น
ขนานที่ ๑๙
๑. หัวข่า ๑ กำมือ
๒. ใบมะกา ๑ กำมือ
๓. ข้าวเปลือกข้าวเจ้า ๓ หยิบมือ
นำมาต้มดื่ม วันละ ๒ เวลา เช้า-เย็น เป็นเวลา ๓๐ วัน
ขนานที่ ๒๐
๑. หัวกระเทียม ๑๐๘ กลีบ
๒. พริกไทยล่อน ๑๐๘ เม็ด
๓. หัวแห้วหมู ๑๐๘ หัว
นำมาตำให้ละเอียด ผสมกับน้ำผึ้ง ปั้นเป็นลูกกลอนขนาดเท่าเมล็ดข้าวโพด กินครั้งละ ๒-๓ เม็ด วันละ ๓ เวลา เช้า เย็น ก่อนนอน
ตำรับยาขนานอื่นๆ
ขนานที่ ๑
๑. ดอกลำโพง ๑ ส่วน
๒. ใบมะฝ่อ ๑ ส่วน
นำมาหั่นรวมกัน เอาเลือดแรด ละลายกับน้ำตาลโตนด เคล้ายาให้ทั่ว แล้วตากแดดให้แห้ง เมื่อจะสูบ ผสมการบูรพอควร ใช้ใบตองแห้งมวนสูบทุกวัน
ขนานที่ ๒
๑. ใบตำลึง ๑ กำมือ ตำคั้นเอาน้ำ
๒. จุนสี สะตุ ๑ สลึง
บดเป็นผงผสมในน้ำตำลึงกินแก้หืด
ขนานที่ ๓
๑. ยาดำ ๑ บาท
๒. มะเขือขื่น ตำคั้นให้ได้น้ำ ๑ ถ้วยชาจีน
๓. ไพล ตำคั้นให้ได้น้ำ ๑ ถ้วยชาจีน
๔. มะพร้าว ๑ ซีก ขูด คั้นเอาแต่น้ำ
นำยาทั้ง๔ มากวนแล้วปั้นเป็นลูกกลอน
ขนานที่ ๔
จันทน์แดง ผสมกับจุนสีสะตุ ๑ สลึง
ขนานที่ ๕
เปลือกหอยอีรุม ฝนกับน้ำปูนใส
ขนานที่ ๖
รกคน นำมาทาเกลือแล้วย่างไฟ บดให้เป็นผงโรยบนข้าวให้กิน
ขนานที่ ๗
กระเทียม หัวหญ้าแห้วหมู พริกไทย อย่างละเท่ากัน บดเป็นผง ผสมกับน้ำผึ้งปั้นเป็นลูกกลอน ขนาดเท่าเม็ดมะเขือพวง กินครั้งละ ๒-๓ เม็ด เช้า-เย็น
ขนานที่ ๘
๑. ฝาหอยแครง หรือ หอยแลงภู่ หรือหอยกาบ หรือหอยโข่ง หรือหอยขม หนัก ๓๐ บาท บดเป็นผง
๒. ยาสูบหนัก ๓๐ บาท บดให้ละเอียด
นำยาทั้ง ๒ มาผสมน้ำ แล้วพอก บริเวณ สะบักลงมาถึงเอวทั้ง ๒ ข้าง ห้ามพอกบนกระดูกสันหลังในขณะที่หอบ เมื่ออาเจียนออกให้ลอกออก แล้วเอาสัปปะรด มาสับเป็นชิ้นเล็กๆ ผสมเกลือ เอาผ้าขาวบางห่อ ให้น้ำหยดลงใส่ภาชนะ รองน้ำดื่ม
หวัดเรื้อรัง , ไอเรื้อรัง
ขนานที่ ๑
ต้นโทงเทงแห้ง หนัก ๓๓ บาท บดเป็นผง ผสมกับน้ำตาลกรวดทำให้เป็นน้ำเชื่อมประมาณครึ่งขวดน้ำปลา กินครั้งละ ๓ ช้อนโต๊ะ วันละ ๓ เวลา หลังอาหาร
ขนานที่ ๒
๑. เทียน ทั้ง ๕ หนักอย่างละ ๑ บาท
๒. สมอทั้ง ๓ หนัก อย่างละ ๑ บาท
๓. มะขามป้อม ๑ บาท
๔. รากช้าพลู ๑ บาท
๕. แก่นสน ๑ บาท
๖. แก่นขี้เหล็ก ๑ บาท
๗. ยาดำ ๑ บาท
๘. ใบมะขาม ๑ บาท
นำมาต้มให้น้ำพอเดือด กินครั้งละ ค่อนแก้ว ก่อนอาหาร เช้า เย็น
ขนานที่ ๓
ใบชุมเห็ดเทศ นำมาย่างจนเกรียมด้วยไฟอ่อนๆ ใช้ชงเป็นน้ำชา กินวันละ ๒ แก้ว
ขนานที่ ๔
๑. หัวอุตพิดสด พอสมควร
๒. กระเทียม ๗ กลีบ
๓. พริกไทยร่อน ๗ เม็ด
๔. ดีปลี ๗ ดอก
นำมาตำให้ละเอียด ผสมกับน้ำผึ้ง ปั้นให้เป็นลูกกลอน ขนาด เท่าเมล็ดข้าวโพด กินวันละ ๑ เม็ด
ขนานที่ ๕
ใบหนุมานประสานกาย ประมาณ ๑๐ ใบ ต้มกับน้ำจนเดือด กินแทนน้ำ
ขนานที่ ๖ ตำรับของ หมอ ชอย สุขพินิจ อ. กาบเชิง จ. สุรินทร์
๑. แก่นสน ๓ ชิ้น (๑ ชิ้น ขนาดเท่า ๑ นิ้วชี้มือ)
๒. ต้น ปีบ ๓ ชิ้น
๓. รากและหัวต้นเลา (ลาว ต้นอ้อ, เขมร ต้นแตรง) ๓ หัว
๔. ย่านาง ทั้ง ๕ ๓ เครือ
นำมาต้มพอเดือด กินครังละ ๑ แก้ว วันละ ๓ เวลา

ที่มา : เอกสารประกอบการสัมมนาวิชาการการแพทย์ทางเลือก 

เรื่อง "การแพทย์ผสมผสานในการดูแลผู้ป่วยโรคภูมิแพ้"
วันที่ 2-4 พฤษภาคม 2550 ณ โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ต ปทุมธานี


วันศุกร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2554

การแพทย์พื้นบ้านกับการรักษาโรคภูมิแพ้

โดย : นายแพทย์เอกชัย ปัญญาวัฒนานุกูล



ผู้เรียบเรียงไม่แน่ใจว่าในอดีตจะเรียกกลุ่มอาการเหล่านี้ว่าโรคภูมิแพ้หรือไม่ เพราะว่าในคำรายาพื้นบ้านไม่ค่อยมีโรคภูมิแพ้ให้เห็น แต่จะมียารักษาโรคหืด ลมพิษ ไอเรื้อรัง โรคหวัด ที่น่าจะจัดอยู่ในกลุ่มโรคภูมิแพ้ได้ สาเหตุที่ตำรายาโบราณ หรือหมอพื้นบ้านไม่ค่อยเขียนถึง อาจเป็นเพราะในอดีตไม่ค่อยจะมีผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ หลักฐานที่สนับสนุนสมมุติฐานนี้ คือ อัตราป่วยโรคภูมิแพ้ของประเทศกำลังพัฒนา พบน้อยกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างน้อย ๒-๓ เท่า เด็กที่เกิดในครอบครัวที่มีลูกหลายคนและเป็นโรคภูมิแพ้ ลูกคนท้ายๆ มักจะไม่ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ ทฤษฏีหนึ่งที่น่าเชื่อถือ คือ เอ็นโดท๊อกซิน Endotoxin ในฝุ่นจะกระตุ้นการทำงานของ T-helper 1cell ซึ่งช่วยลดการแพ้สารกระตุ้นต่างๆ ได้ ข้อสังเกตของผู้เขียนเองก็พบว่า เด็กที่เกิดในครอบครัวที่มีฐานะทั้งการศึกษาหรือการเงินดีมักจะเป็นโรคภูมิแพ้ หรือหอบหืดได้บ่อย ข้อมูลเหล่านี้น่าจะเป็นประโยชน์ในการเลี้ยงดูบุตร เพื่อป้องกัน หรือลดการป่วยด้วยโรคภูมิแพ้ได้บ้าง
ประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียนในการใช้สมุนไพรพื้นบ้าน มีไม่มากนัก โดยส่วนตัวคิดว่าถ้าผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ หรือ หอบหืดจะดีขึ้น หรือหายได้ คงไม่ใช่จากยาสมุนไพรอย่างเดียว แต่ต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ทำให้ภูมิคุ้มกันโรคทำงานด้อยประสิทธิภาพลงด้วย ได้แก่ การควบคุมอารมณ์ที่ดีขึ้น การกินอาหารที่เหมาะสมกับร่างกาย การออกกำลัง การลดปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น สุรา บุหรี่ สารเคมี เป็นต้น

ตำรับยาที่ใช้รักษาโรคภูมแพ้บ่อยๆ คือ ยาปราบชมพูทวีป ซึ่งมีใช้ในโรงพยาบาลชุมชนหลายแห่ง สามารถลดอาการกำเริบของโรคภูมิแพ้ได้ดีพอสมควร ถ้ามีอาการกำเริบ ก็จะทำให้การหายเร็วขึ้น ยานี้มีประสบการทั้งที่ใช้ในครอบครัว และคนไข้ของผู้เขียน ข้อเสียของยาตำรับนี้คือ ใช้ตัวยาประกอบจำนวนมาก ประมาณ ๕๐ รายการ ซึ่งเตรียมยาก และสิ้นเปลืองพอควร
ประสบการณ์ที่ได้จากคนไข้ของผู้เขียนบางคนที่ใช้วิธีอื่นแล้วได้ผลดี เช่น เด็กที่เป็นโรคหอบหืด ไม่นาน ผู้ปกครองจะย่างเนื้อตุ๊กแก ให้สุก แล้วป้อนให้เด็กกิน พบว่าเด็กจำนวนหนึ่งหายป่วยได้ ผู้ป่วยรายหนึ่งอายุ ๗๐ ปีที่เป็นโรคหอบหืด และถุงลมโป่งพอง กินยาขยายหลอดลมเป็นประจำ และมักมีอาการข้างเคียงจากยาด้วย เมื่อมีโอกาสทดลองกินเนื้อจระเข้ที่ปรุงสุก ระยะหนึ่ง สามารถหยุดยาได้ระยะหนึ่งเป็นเวลาหลายเดือนโดยไม่มีอาการ เมื่อมีอาการก็ใช้ยาในขนาดที่น้อยลงมาก อีกตัวอย่างในคนไข้หอบหืดเป็นมาหลายปี ใช้ยาอยู่หลายชนิดทั้งกิน พ่นยา และฉีดยาขยายหลอดลมเป็นประจำ หลังจากกิน เหง้าของเอื้องหมายนา ประมาณ ๑ สัปดาห์ ก็สามารถลดยาขยายหลอดลมได้หลายชนิด จนหยุดยาได้
ส่วนตัวผู้เขียนเองเป็นลมพิษเรื้อรัง จากการแพ้เหงื่อ หลังเล่นกีฬาจะมีผื่นลมพิษขึ้นเป็นประจำตั้งแต่เป็นนักศึกษาแพทย์ ได้ทดลองกินยาตำรับหนึ่งของหลวงพ่อเมียก แห่งวัดโคกกะเพอ จ.สุรินทร์ กินอยู่ประมาณ ๓ สัปดาห์ ผื่นลมพิษหายไปประมาณ ๒ ปี โดยไม่กำเริบ นานๆ ครั้งจะมีผื่นขึ้นบ้างแต่เป็นปริมาณน้อย และหายเองโดยไม่ต้องใช้ยา ตำรับที่ใช้มีแก่นฝางเสน เป็นยาหลัก หลวงพ่ออธิบายว่า สาเหตุของโรคเกิดจากเลือดเสีย หรือเลือดเป็นพิษ ดังนั้นจึงต้องฟอกเลือดเสีย และขับออก ต่อมาจึงบำรุงโลหิตตาม ปัจจัยอื่นๆที่ผู้เขียนเปลี่ยนแปลงด้วย คือ ลดอาหารที่เป็นของทอดและมันลง รวมทั้งการขับถ่ายที่ดีขึ้น
โดยสรุปแล้วผู้เขียนเชื่อว่าสามารถนำมาใช้รักษา หรือบรรเทาอาการโรคภูมิแพ้ ต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถ้ามีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อทำความเข้าใจในคำอธิบายการเกิดโรคหรืออาการภูมิแพ้ของการแพทย์พื้นบ้าน และวิธีคิดในการใช้ยาแต่ละประเภท แล้วนำมาศึกษาวิจัยทางคลินิกต่อไป มีตัวอย่างที่น่ายินดีคือ นักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า สามารถนำ กานพลู และอบเชย มาใช้ในการกำจัด ไรฝุ่น ที่เป็นสาเหตุ การแพ้ส่วนใหญ่ได้สำเร็จ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ดังนั้นผู้เขียนจึงรวบรวมตัวอย่างตำรับยาที่ใช้ในการรักษาโรคภูมิแพ้มาจำนวนหนึ่ง เพื่อเป็นตัวอย่างในการใช้ประโยชน์ในอนาคต

ที่มา : เอกสารประกอบการสัมมนาวิชาการการแพทย์ทางเลือก
เรื่อง "การแพทย์ผสมผสานในการดูแลผู้ป่วยโรคภูมิแพ้"
วันที่ 2-4 พฤษภาคม 2550 ณ โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ต ปทุมธานี

วันอังคารที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2554

       เพลง ยาขอหมอวาน
คำร้อง      พญ. เพ็ญนภา  ทรัพย์เจริญ
ทำนอง    พญ. เพ็ญนภา  ทรัพย์เจริญ

คนไทยโบราณ                        เลี้ยงลูกหลานกันมา
เจ็บไข้รอดตายด้วยยา                             สมุนไพรปลูกไว้รอบตัว
                หมอดีมียา                               ใช่จะหาเงินมาใส่ตัว
จะมีหรือจนไม่กลัว                                ท่านขรัวยาขอหมอวาน
                แบกไถ้ใส่บ่า                           เก็บยาทั้งวันผันผ่าน
ชุมเห็ด สะแก สะค้าน                             ลูกตาล กุ่มน้ำ เปลือกแค
                มองไปทางใด                         มีสมุนไพรให้แล
ชื่นใจจริงแท้                                           ท่านไม่เชือนแชดีแท้หมอยา
                คนไทยภูมิใจ                          แพทย์แผนไทยพัฒนา
ฟื้นฟูยกครูขึ้นมา                                    หมอยาทั่วพื้นดินไทย
                ยาขอหมอวาน                        อุดมการณ์เอามาใส่ใจ
ช่วยชีวิตคนมากมาย                                สมุนไพรช่วยไทยยิ่งเอย



พญ. เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ*
ผู้บุกเบิกงานสมุนไพรภูมิปัญญาไทยและแพทย์แผนไทยของกระทรวงสาธารณสุข



วันจันทร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2554

สมุนไพรไทยมีประโยชน์อย่างไร

ในสมัยก่อนกาลแต่บรรพบุรุษของไทยเรา  ได้ใช้สมุนไพรเป็นอาหารในการป้องกันโรค  ใช้ลูกประคบในการบรรเทาความป่วยเมื่อย