วันศุกร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2554

การแพทย์พื้นบ้านกับการรักษาโรคภูมิแพ้

โดย : นายแพทย์เอกชัย ปัญญาวัฒนานุกูล



ผู้เรียบเรียงไม่แน่ใจว่าในอดีตจะเรียกกลุ่มอาการเหล่านี้ว่าโรคภูมิแพ้หรือไม่ เพราะว่าในคำรายาพื้นบ้านไม่ค่อยมีโรคภูมิแพ้ให้เห็น แต่จะมียารักษาโรคหืด ลมพิษ ไอเรื้อรัง โรคหวัด ที่น่าจะจัดอยู่ในกลุ่มโรคภูมิแพ้ได้ สาเหตุที่ตำรายาโบราณ หรือหมอพื้นบ้านไม่ค่อยเขียนถึง อาจเป็นเพราะในอดีตไม่ค่อยจะมีผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ หลักฐานที่สนับสนุนสมมุติฐานนี้ คือ อัตราป่วยโรคภูมิแพ้ของประเทศกำลังพัฒนา พบน้อยกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างน้อย ๒-๓ เท่า เด็กที่เกิดในครอบครัวที่มีลูกหลายคนและเป็นโรคภูมิแพ้ ลูกคนท้ายๆ มักจะไม่ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ ทฤษฏีหนึ่งที่น่าเชื่อถือ คือ เอ็นโดท๊อกซิน Endotoxin ในฝุ่นจะกระตุ้นการทำงานของ T-helper 1cell ซึ่งช่วยลดการแพ้สารกระตุ้นต่างๆ ได้ ข้อสังเกตของผู้เขียนเองก็พบว่า เด็กที่เกิดในครอบครัวที่มีฐานะทั้งการศึกษาหรือการเงินดีมักจะเป็นโรคภูมิแพ้ หรือหอบหืดได้บ่อย ข้อมูลเหล่านี้น่าจะเป็นประโยชน์ในการเลี้ยงดูบุตร เพื่อป้องกัน หรือลดการป่วยด้วยโรคภูมิแพ้ได้บ้าง
ประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียนในการใช้สมุนไพรพื้นบ้าน มีไม่มากนัก โดยส่วนตัวคิดว่าถ้าผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ หรือ หอบหืดจะดีขึ้น หรือหายได้ คงไม่ใช่จากยาสมุนไพรอย่างเดียว แต่ต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ทำให้ภูมิคุ้มกันโรคทำงานด้อยประสิทธิภาพลงด้วย ได้แก่ การควบคุมอารมณ์ที่ดีขึ้น การกินอาหารที่เหมาะสมกับร่างกาย การออกกำลัง การลดปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น สุรา บุหรี่ สารเคมี เป็นต้น

ตำรับยาที่ใช้รักษาโรคภูมแพ้บ่อยๆ คือ ยาปราบชมพูทวีป ซึ่งมีใช้ในโรงพยาบาลชุมชนหลายแห่ง สามารถลดอาการกำเริบของโรคภูมิแพ้ได้ดีพอสมควร ถ้ามีอาการกำเริบ ก็จะทำให้การหายเร็วขึ้น ยานี้มีประสบการทั้งที่ใช้ในครอบครัว และคนไข้ของผู้เขียน ข้อเสียของยาตำรับนี้คือ ใช้ตัวยาประกอบจำนวนมาก ประมาณ ๕๐ รายการ ซึ่งเตรียมยาก และสิ้นเปลืองพอควร
ประสบการณ์ที่ได้จากคนไข้ของผู้เขียนบางคนที่ใช้วิธีอื่นแล้วได้ผลดี เช่น เด็กที่เป็นโรคหอบหืด ไม่นาน ผู้ปกครองจะย่างเนื้อตุ๊กแก ให้สุก แล้วป้อนให้เด็กกิน พบว่าเด็กจำนวนหนึ่งหายป่วยได้ ผู้ป่วยรายหนึ่งอายุ ๗๐ ปีที่เป็นโรคหอบหืด และถุงลมโป่งพอง กินยาขยายหลอดลมเป็นประจำ และมักมีอาการข้างเคียงจากยาด้วย เมื่อมีโอกาสทดลองกินเนื้อจระเข้ที่ปรุงสุก ระยะหนึ่ง สามารถหยุดยาได้ระยะหนึ่งเป็นเวลาหลายเดือนโดยไม่มีอาการ เมื่อมีอาการก็ใช้ยาในขนาดที่น้อยลงมาก อีกตัวอย่างในคนไข้หอบหืดเป็นมาหลายปี ใช้ยาอยู่หลายชนิดทั้งกิน พ่นยา และฉีดยาขยายหลอดลมเป็นประจำ หลังจากกิน เหง้าของเอื้องหมายนา ประมาณ ๑ สัปดาห์ ก็สามารถลดยาขยายหลอดลมได้หลายชนิด จนหยุดยาได้
ส่วนตัวผู้เขียนเองเป็นลมพิษเรื้อรัง จากการแพ้เหงื่อ หลังเล่นกีฬาจะมีผื่นลมพิษขึ้นเป็นประจำตั้งแต่เป็นนักศึกษาแพทย์ ได้ทดลองกินยาตำรับหนึ่งของหลวงพ่อเมียก แห่งวัดโคกกะเพอ จ.สุรินทร์ กินอยู่ประมาณ ๓ สัปดาห์ ผื่นลมพิษหายไปประมาณ ๒ ปี โดยไม่กำเริบ นานๆ ครั้งจะมีผื่นขึ้นบ้างแต่เป็นปริมาณน้อย และหายเองโดยไม่ต้องใช้ยา ตำรับที่ใช้มีแก่นฝางเสน เป็นยาหลัก หลวงพ่ออธิบายว่า สาเหตุของโรคเกิดจากเลือดเสีย หรือเลือดเป็นพิษ ดังนั้นจึงต้องฟอกเลือดเสีย และขับออก ต่อมาจึงบำรุงโลหิตตาม ปัจจัยอื่นๆที่ผู้เขียนเปลี่ยนแปลงด้วย คือ ลดอาหารที่เป็นของทอดและมันลง รวมทั้งการขับถ่ายที่ดีขึ้น
โดยสรุปแล้วผู้เขียนเชื่อว่าสามารถนำมาใช้รักษา หรือบรรเทาอาการโรคภูมิแพ้ ต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถ้ามีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อทำความเข้าใจในคำอธิบายการเกิดโรคหรืออาการภูมิแพ้ของการแพทย์พื้นบ้าน และวิธีคิดในการใช้ยาแต่ละประเภท แล้วนำมาศึกษาวิจัยทางคลินิกต่อไป มีตัวอย่างที่น่ายินดีคือ นักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า สามารถนำ กานพลู และอบเชย มาใช้ในการกำจัด ไรฝุ่น ที่เป็นสาเหตุ การแพ้ส่วนใหญ่ได้สำเร็จ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ดังนั้นผู้เขียนจึงรวบรวมตัวอย่างตำรับยาที่ใช้ในการรักษาโรคภูมิแพ้มาจำนวนหนึ่ง เพื่อเป็นตัวอย่างในการใช้ประโยชน์ในอนาคต

ที่มา : เอกสารประกอบการสัมมนาวิชาการการแพทย์ทางเลือก
เรื่อง "การแพทย์ผสมผสานในการดูแลผู้ป่วยโรคภูมิแพ้"
วันที่ 2-4 พฤษภาคม 2550 ณ โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ต ปทุมธานี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น