วันศุกร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2554

การแพทย์พื้นบ้านกับการรักษาโรคภูมิแพ้

โดย : นายแพทย์เอกชัย ปัญญาวัฒนานุกูล



ผู้เรียบเรียงไม่แน่ใจว่าในอดีตจะเรียกกลุ่มอาการเหล่านี้ว่าโรคภูมิแพ้หรือไม่ เพราะว่าในคำรายาพื้นบ้านไม่ค่อยมีโรคภูมิแพ้ให้เห็น แต่จะมียารักษาโรคหืด ลมพิษ ไอเรื้อรัง โรคหวัด ที่น่าจะจัดอยู่ในกลุ่มโรคภูมิแพ้ได้ สาเหตุที่ตำรายาโบราณ หรือหมอพื้นบ้านไม่ค่อยเขียนถึง อาจเป็นเพราะในอดีตไม่ค่อยจะมีผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ หลักฐานที่สนับสนุนสมมุติฐานนี้ คือ อัตราป่วยโรคภูมิแพ้ของประเทศกำลังพัฒนา พบน้อยกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างน้อย ๒-๓ เท่า เด็กที่เกิดในครอบครัวที่มีลูกหลายคนและเป็นโรคภูมิแพ้ ลูกคนท้ายๆ มักจะไม่ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ ทฤษฏีหนึ่งที่น่าเชื่อถือ คือ เอ็นโดท๊อกซิน Endotoxin ในฝุ่นจะกระตุ้นการทำงานของ T-helper 1cell ซึ่งช่วยลดการแพ้สารกระตุ้นต่างๆ ได้ ข้อสังเกตของผู้เขียนเองก็พบว่า เด็กที่เกิดในครอบครัวที่มีฐานะทั้งการศึกษาหรือการเงินดีมักจะเป็นโรคภูมิแพ้ หรือหอบหืดได้บ่อย ข้อมูลเหล่านี้น่าจะเป็นประโยชน์ในการเลี้ยงดูบุตร เพื่อป้องกัน หรือลดการป่วยด้วยโรคภูมิแพ้ได้บ้าง
ประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียนในการใช้สมุนไพรพื้นบ้าน มีไม่มากนัก โดยส่วนตัวคิดว่าถ้าผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ หรือ หอบหืดจะดีขึ้น หรือหายได้ คงไม่ใช่จากยาสมุนไพรอย่างเดียว แต่ต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ทำให้ภูมิคุ้มกันโรคทำงานด้อยประสิทธิภาพลงด้วย ได้แก่ การควบคุมอารมณ์ที่ดีขึ้น การกินอาหารที่เหมาะสมกับร่างกาย การออกกำลัง การลดปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น สุรา บุหรี่ สารเคมี เป็นต้น

ตำรับยาที่ใช้รักษาโรคภูมแพ้บ่อยๆ คือ ยาปราบชมพูทวีป ซึ่งมีใช้ในโรงพยาบาลชุมชนหลายแห่ง สามารถลดอาการกำเริบของโรคภูมิแพ้ได้ดีพอสมควร ถ้ามีอาการกำเริบ ก็จะทำให้การหายเร็วขึ้น ยานี้มีประสบการทั้งที่ใช้ในครอบครัว และคนไข้ของผู้เขียน ข้อเสียของยาตำรับนี้คือ ใช้ตัวยาประกอบจำนวนมาก ประมาณ ๕๐ รายการ ซึ่งเตรียมยาก และสิ้นเปลืองพอควร
ประสบการณ์ที่ได้จากคนไข้ของผู้เขียนบางคนที่ใช้วิธีอื่นแล้วได้ผลดี เช่น เด็กที่เป็นโรคหอบหืด ไม่นาน ผู้ปกครองจะย่างเนื้อตุ๊กแก ให้สุก แล้วป้อนให้เด็กกิน พบว่าเด็กจำนวนหนึ่งหายป่วยได้ ผู้ป่วยรายหนึ่งอายุ ๗๐ ปีที่เป็นโรคหอบหืด และถุงลมโป่งพอง กินยาขยายหลอดลมเป็นประจำ และมักมีอาการข้างเคียงจากยาด้วย เมื่อมีโอกาสทดลองกินเนื้อจระเข้ที่ปรุงสุก ระยะหนึ่ง สามารถหยุดยาได้ระยะหนึ่งเป็นเวลาหลายเดือนโดยไม่มีอาการ เมื่อมีอาการก็ใช้ยาในขนาดที่น้อยลงมาก อีกตัวอย่างในคนไข้หอบหืดเป็นมาหลายปี ใช้ยาอยู่หลายชนิดทั้งกิน พ่นยา และฉีดยาขยายหลอดลมเป็นประจำ หลังจากกิน เหง้าของเอื้องหมายนา ประมาณ ๑ สัปดาห์ ก็สามารถลดยาขยายหลอดลมได้หลายชนิด จนหยุดยาได้
ส่วนตัวผู้เขียนเองเป็นลมพิษเรื้อรัง จากการแพ้เหงื่อ หลังเล่นกีฬาจะมีผื่นลมพิษขึ้นเป็นประจำตั้งแต่เป็นนักศึกษาแพทย์ ได้ทดลองกินยาตำรับหนึ่งของหลวงพ่อเมียก แห่งวัดโคกกะเพอ จ.สุรินทร์ กินอยู่ประมาณ ๓ สัปดาห์ ผื่นลมพิษหายไปประมาณ ๒ ปี โดยไม่กำเริบ นานๆ ครั้งจะมีผื่นขึ้นบ้างแต่เป็นปริมาณน้อย และหายเองโดยไม่ต้องใช้ยา ตำรับที่ใช้มีแก่นฝางเสน เป็นยาหลัก หลวงพ่ออธิบายว่า สาเหตุของโรคเกิดจากเลือดเสีย หรือเลือดเป็นพิษ ดังนั้นจึงต้องฟอกเลือดเสีย และขับออก ต่อมาจึงบำรุงโลหิตตาม ปัจจัยอื่นๆที่ผู้เขียนเปลี่ยนแปลงด้วย คือ ลดอาหารที่เป็นของทอดและมันลง รวมทั้งการขับถ่ายที่ดีขึ้น
โดยสรุปแล้วผู้เขียนเชื่อว่าสามารถนำมาใช้รักษา หรือบรรเทาอาการโรคภูมิแพ้ ต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถ้ามีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อทำความเข้าใจในคำอธิบายการเกิดโรคหรืออาการภูมิแพ้ของการแพทย์พื้นบ้าน และวิธีคิดในการใช้ยาแต่ละประเภท แล้วนำมาศึกษาวิจัยทางคลินิกต่อไป มีตัวอย่างที่น่ายินดีคือ นักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า สามารถนำ กานพลู และอบเชย มาใช้ในการกำจัด ไรฝุ่น ที่เป็นสาเหตุ การแพ้ส่วนใหญ่ได้สำเร็จ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ดังนั้นผู้เขียนจึงรวบรวมตัวอย่างตำรับยาที่ใช้ในการรักษาโรคภูมิแพ้มาจำนวนหนึ่ง เพื่อเป็นตัวอย่างในการใช้ประโยชน์ในอนาคต

ที่มา : เอกสารประกอบการสัมมนาวิชาการการแพทย์ทางเลือก
เรื่อง "การแพทย์ผสมผสานในการดูแลผู้ป่วยโรคภูมิแพ้"
วันที่ 2-4 พฤษภาคม 2550 ณ โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ต ปทุมธานี

วันอังคารที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2554

       เพลง ยาขอหมอวาน
คำร้อง      พญ. เพ็ญนภา  ทรัพย์เจริญ
ทำนอง    พญ. เพ็ญนภา  ทรัพย์เจริญ

คนไทยโบราณ                        เลี้ยงลูกหลานกันมา
เจ็บไข้รอดตายด้วยยา                             สมุนไพรปลูกไว้รอบตัว
                หมอดีมียา                               ใช่จะหาเงินมาใส่ตัว
จะมีหรือจนไม่กลัว                                ท่านขรัวยาขอหมอวาน
                แบกไถ้ใส่บ่า                           เก็บยาทั้งวันผันผ่าน
ชุมเห็ด สะแก สะค้าน                             ลูกตาล กุ่มน้ำ เปลือกแค
                มองไปทางใด                         มีสมุนไพรให้แล
ชื่นใจจริงแท้                                           ท่านไม่เชือนแชดีแท้หมอยา
                คนไทยภูมิใจ                          แพทย์แผนไทยพัฒนา
ฟื้นฟูยกครูขึ้นมา                                    หมอยาทั่วพื้นดินไทย
                ยาขอหมอวาน                        อุดมการณ์เอามาใส่ใจ
ช่วยชีวิตคนมากมาย                                สมุนไพรช่วยไทยยิ่งเอย



พญ. เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ*
ผู้บุกเบิกงานสมุนไพรภูมิปัญญาไทยและแพทย์แผนไทยของกระทรวงสาธารณสุข